คลังปรับแผนเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 10% ผลกระทบจากโควิด-19
ไทยรัฐฉบับพิมพ์
3 พ.ค. 2564 06:30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมปรับแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้มีรายได้ใหม่เข้ามาทดแทนรายได้ที่หายไป เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรม คือกรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 64 (ต.ค.63-มี.ค.64) เก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายต่อเนื่อง โดยจัดเก็บรายได้ที่ 1.01 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 122,545 ล้านบาท คิดเป็น 10.7% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 123,594 ล้านบาท หรือ 10.8% โดยพบว่ายอดจัดเก็บรายได้ลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะจาก 3 กรมภาษี เก็บรายได้รวมกัน 1.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 97,606 ล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 103,343 ล้านบาท
ส่วนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจก็ลดลงเช่นกัน มีรายได้ทั้งสิ้น 47,780 ล้านบาท ลดลง 53,393 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 35,006 ล้านบาทเมื่อเทียบกับเป้าหมาย เนื่องจากปีนี้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มีผลประกอบการลดลงจากผลกระทบโควิด รวมถึงธนาคารรัฐก็นำกำไรไปช่วยเหลือลูกหนี้และมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่รายได้อื่นจากส่วนราชการจัดเก็บได้ 86,862 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,719 ล้านบาทจากปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าเป้าประมาณการ 5,047 ล้านบาท
ข่าวแนะนำ
ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ กรมที่จัดเก็บรายได้ติดลบมากสุด คือ กรมสรรพากรเก็บได้เพียง 735,958 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 76,728 ล้านบาท ภาษีที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากรัฐได้ออกมาตรการชะลอการเก็บภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด อีกทั้งภาคธุรกิจและประชาชนมีรายได้ลดลงทำให้เสียภาษีน้อยลง ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มก็เก็บได้น้อยกว่าปีก่อน เช่นเดียวกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ส่วนรายได้กรมสรรพสามิตเก็บได้ 281,556 ล้านบาท น้อยกว่าเป้า 25,319 ล้านบาท ลดลงทั้งภาษียาสูบ ภาษีสุรา ภาษีเบียร์ ภาษีเครื่องดื่ม ขณะที่กรมศุลกากรเก็บรายได้ 50,304 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1,296 ล้านบาท.
อ่านเพิ่มเติม…