มท.1 มีสารเนื่องในวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 64 ย้ำ นำแนวทางการทำงานแบบ “รวมไทยสร้างชาติ”
ข่าวประชาสัมพันธ์
18 มี.ค. 2564 15:01 น.
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีสารเนื่องในวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2564 วันที่ 18 มีนาคม 2564 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้บริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกแห่ง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 18 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันท้องถิ่นไทย” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2448 ถือเป็น “ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย” และเป็นรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น จวบจนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลา 116 ปี ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 7,850 แห่ง เป็นหน่วยของการบริหารราชการแผ่นดินที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชนมากที่สุด มีนวัตกรรมการพัฒนาและผลการปฏิบัติงานที่โดดเด่น ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การบริการสาธารณะ การส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การส่งเสริมการสร้างอาชีพ นวัตกรรมการบริหารจัดการและแนวทางการให้บริการประชาชน ไปจนถึงการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการผนึกกำลังร่วมกับทุกภาคส่วนในการระงับยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลายเป็นลำดับ และขอให้ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคต่อไปอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้นำแนวทางการทำงานแบบ “รวมไทยสร้างชาติ” ตามแนวคิดของรัฐบาลไปขยายผลให้การพัฒนาท้องถิ่นสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เน้นหลักการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนได้มีร่วมเสนอความคิดเห็น ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ เน้นการทำงานเชิงรุก ปรับเปลี่ยนและจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานให้ตอบสนองประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ไปจนถึงการปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม…