จีน vs สหรัฐฯ สงครามเย็นครั้งใหม่นอกสมรภูมิการเมือง


จีน vs สหรัฐฯ สงครามเย็นครั้งใหม่นอกสมรภูมิการเมือง

ข่าว

ไทยรัฐออนไลน์

22 เม.ย. 2564 15:20 น.

บันทึก
SHARE

  • ข้อพิพาทเรื่องสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ การแทรกแซงการเมืองในฮ่องกงและไต้หวัน ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญพอๆ กับประเด็นเรื่องการค้า ที่ทำให้จีนและสหรัฐฯ เกิดการกระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง
  • การต่อสู้ด้านการวางกลยุทธ์เพื่อกีดกันการขยายอำนาจ ระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นสงครามเย็นรูปแบบใหม่ แต่ไม่ได้เน้นการปะทะกันของอุดมการณ์ทางการเมืองเท่าสงครามเย็นเมื่อทศวรรษ 1980-1990 โดยเปลี่ยนไปเป็นการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนมากกว่า

หากนิยามสงครามเย็นว่าคือการต่อสู้ด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างดินแดนที่มีแนวคิดและระบบการเมืองการปกครองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฟาดฟันกันด้วยข้อมูลข่าวสาร โฆษณาชวนเชื่อ และศักยภาพของกองทัพ ดังเช่นความตึงเครียดที่เคยเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต นั่นคือความหมายของสงครามเย็นเมื่อหลายสิบปีก่อน

สภาพสังคมและค่านิยมแปรเปลี่ยนตามยุคสมัย สงครามเย็นในมุมมองนักวิชาการจำนวนมากเริ่มขยายขอบเขตกว้างขึ้น เมื่อโซเวียตที่เคยเป็นคู่แข่งในสงครามเย็นถูกเปลี่ยนมาเป็นคู่ต่อสู้คนใหม่อย่างประเทศจีน ความตึงเครียด การแข่งขันของสองชาติมหาอำนาจจึงเปลี่ยนไป

นโยบายต่างประเทศหลายอย่างของรัฐบาลสหรัฐอเมริกายุค โจ ไบเดน (Joe Biden) แสดงให้เห็นว่าเน้นแนวทางการเผชิญหน้าและกีดกันการขยายอำนาจของจีนมากกว่ารัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ โดยย้ำว่าจีนเป็นคู่แข่งยักษ์ใหญ่ที่สามารถรวมอำนาจทางเศรษฐกิจ การทูต และเทคโนโลยี

เป็นที่มาของคำถามร่วมสมัยว่า เราสามารถเรียกการต่อสู้ด้านการค้า การลงทุน ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปัจจุบันว่าเป็นสงครามเย็นได้หรือไม่

ประเทศจีนขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยระบบทุนนิยม โดดเด่นเรื่องการผลิตและควบคุมตลาด เร่งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จุดเด่นนี้ทำให้สำนักข่าว Los Angles Times มองเห็นความแตกต่างระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่เคยลงสนามแข่งขันกับสหรัฐฯ เพื่อสร้างอำนาจในระดับโลก เมื่ออุตสาหกรรมของโซเวียตไม่สามารถดึงดูดผู้ซื้อชาวอเมริกันได้เท่าที่ควร แตกต่างกับจีนซึ่งผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเหล่าประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ เน้นการแข่งขันด้านการค้า การวางแผนกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงอำนาจ มากกว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองโดยตรง

ข่าวแนะนำ

ข้อพิพาทในซินเจียงอุยกูร์ ฮ่องกง และไต้หวัน

ข้อพิพาทเรื่องสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ นับเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้สหรัฐฯ และจีนกระทบกระทั่งบ่อยครั้ง

ย้อนกลับไปยังปี 2018 องค์การสหประชาชาติ (UN) เคยยื่นคำร้องต่อรัฐบาลจีน อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติเข้าไปสำรวจ ‘โรงเรียนปรับทัศนคติมุสลิมอุยกูร์’ เนื่องจากกังวลกับข่าวลือเรื่องการใช้ความรุนแรง ลิดรอนเสรีภาพ กดขี่ทางเชื้อชาติ แต่กลับถูกรัฐบาลจีนปฏิเสธ

ต่อมาชาวอุยกูร์กลุ่มหนึ่งตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ว่าโรงเรียนดังกล่าวไม่สามารถเรียกว่าสถานศึกษาได้ แต่เป็นค่ายกักกันที่ขังคนนับล้านไว้ในพื้นที่คับแคบ รัฐบาลจีนบังคับให้สตรีอุยกูร์ต้องทำหมัน ส่วนผู้ชายต้องเป็นแรงงานผลิตสินค้า และวัตถุดิบให้กับบริษัทจำนวนมาก

กรณีการฟ้องร้องของชาวอุยกูร์เรื่องโรงเรียนปรับทัศนคติจบลงในปี 2020 ฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) อัยการสูงสุดศาลอาญาระหว่างประเทศ ชี้แจ้งว่า ศาลไม่สามารถดำเนินการสั่งฟ้องจีนได้ เนื่องจากประเทศจีนไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ลงนามกับศาลอาญาระหว่างประเทศ

แม้จะสั่งฟ้องไม่ได้ แต่เรื่องราวของอุยกูร์ก็อยู่ในสายตาของประชาคมโลกมากขึ้น จนเกิดการประกาศแบนฝ้ายที่ผลิตจากเขตซินเจียงของบริษัทต่างชาติหลายแห่ง ลุกลามจนเป็นกรณีโต้เถียงระหว่าง แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับ หยาง เจี๋ยฉือ (Yang Jiechi) มนตรีแห่งรัฐ และ หวัง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ในการประชุมทวิภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่จีนและสหรัฐฯ ครั้งแรกนับตั้งแต่ไบเดนเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2020 เมืองแองเคอราจ รัฐอะแลสกา

นอกจากประเด็นซินเจียง สหรัฐฯ ยังกระทบกระทั่งกับจีนอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการแทรกแซงการเมืองการปกครองของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง การปราบปรามชาวฮ่องกงที่เรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึงข้อพิพาทเรื่องการล้ำเส้นเขตแดนของจีนและไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมมองของจีน ทั้งซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน คือเขตแดนที่รัฐบาลจีนย้ำต่อโลกเสมอว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่

นักวิชาการส่วนใหญ่มองว่าจีนไม่ได้มีความพยายามบ่อนทำลายประชาธิปไตยของชาติอื่น เหมือนกับที่โซเวียตเคยพยายามทำกับหลายประเทศในยุโรปตะวันออก

ซือ เจ๋อ (Shi Zhe) อดีตนักการทูตจีนและล่ามภาษารัสเซีย ประจำสถานทูตจีนในกรุงมอสโก ทำงานร่วมกับ เหมา เจ๋อ ตง หลายครั้ง เคยกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างรัสเซียกับจีนว่า

“ทั้งสองประเทศมีทัศนคติแตกต่างกัน ผมไม่แน่ใจว่ารัสเซียอาจต้องการทำลายระบบระเบียบเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่ แต่จีนรับประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าระหว่างประเทศ เราจึงต้องการปรับปรุงและแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ใช่ทำให้เกิดความเสียหาย”

ข้อความของ ซือ เจ๋อ ถูก ลอรา โรเซนเบอร์เกอร์ (Laura Rosenberger) เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นต่างมุมมองต่อประโยคดังกล่าวว่า สหรัฐฯ พบการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตเพื่อทำลายความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยทั้งสหรัฐฯ และดินแดนอื่นๆ เช่น การแทรกแซงการเมืองของฮ่องกง การใช้กำลังทหารกดดันไต้หวัน ที่ทำให้วนกลับไปยังประเด็นแรกเริ่มที่ว่า จีนมองฮ่องกงกับไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองมาโดยตลอด

การร่วมกลุ่มก้อนพันธมิตรของตัวเอง

South China Morning Post นำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนที่ได้ข้อมูลจากอดีตนักการทูตชาวเบลารุสในอินเดีย เกิดเสียงลือหนาหูถึงทฤษฎีความเป็นไปได้ว่าจีนกำลังรวมกลุ่มกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ภายใต้ชื่อ ‘Himalayan Quad’

การประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศทั้ง 4 ประเทศ จัดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2020 แม้หลายคนอาจมองว่าการประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ชี้ถึงประเด็นสำคัญในการประชุมดังกล่าวว่า จีนมีความต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้มั่นคงมากขึ้น เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้การจัดหาวัคซีนดำเนินไปอย่างราบรื่น ร่วมวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสเริ่มผ่อนคลายขึ้น ไปจนถึงเรื่องการร่วมมือเรื่องภูมิสารสนเทศและการทหาร

ความร่วมมือระหว่าง 4 ประเทศบริเวณเทือกเขาหิมาลัย มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน ท่าทีของรัฐบาลจีนแสดงให้เห็นว่า หากอนาคตอันใกล้จีนและประเทศเหล่านี้เผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจไม่เคยเจอมาก่อน ทั้ง 4 ชาติจะสามารถขยายขอบเขตความร่วมมือมากขึ้น

Himalayan Quad แสดงให้เห็นว่า จีนพยายามสร้างกลุ่มพันธมิตรที่แน่นแฟ้น จนถูกนำมาเปรียบเทียบกับ The Quad (Quadrilateral Security Dialogue) การจัดประชุมของสหรัฐอเมริการ่วมกับ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งนักวิชาการหลายคนเรียกว่า ‘Asian NATO’

ด้าน Globaltimes มองการรวมตัวของกลุ่มของประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยว่าเป็นไปในรูปแบบ “การเมืองและการทหารระดับภูมิภาคที่ถูกครอบงำจากค่านิยมสมัยสงครามเย็น” ก่อนคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จีนจะพยายามเชื้อเชิญปนกดดันให้ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อสร้างพันธมิตรที่ใหญ่ขึ้น จนเกิดกระแสต่อต้านจากสหรัฐฯ

ยุโรปไม่พร้อมเผชิญสงครามเย็น

ไม่นานหลังจากจีนประกาศแบนบริษัทที่ไม่ยอมรับการใช้ฝ้ายในเขตซินเจียง การดำเนินนโยบายทางการค้าที่เข้มข้นขึ้นของสหรัฐฯ และจีน ด้านสหภาพยุโรป (EU) พยายามแสดงท่าทีเป็นกลาง เน้นย้ำถึงความร่วมมือคู่กับการเผชิญหน้าต่อปัญหา เพื่อให้สองชาติมหาอำนาจร่วมวางยุทธศาสตร์ด้านการค้าในเอเชียแปซิฟิก

สหภาพยุโรปยินดีร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ยอมรับการร่วมงานกับจีน โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก รัฐบาลจีนยืนยันจะจัดการปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและขยะอาหาร

กันเนอร์ วีแกนด์ (Gunner Wiegand) อธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป กล่าวต่อหน้าที่ประชุมออนไลน์ว่า

“ยุโรปมีแนวทางที่จะดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง เรามีบทเรียนมากมายจากสงครามเย็น ในตอนนั้นบางประเทศถูกแบ่งเป็นสองฝั่งด้วยม่านเหล็กขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่ในยุโรป แต่ภูมิภาคอื่นก็ควรหลีกเลี่ยงการนำตัวเองไปสู่สภาวะสงครามเย็น การส่งเสริมความร่วมมือแบบเผชิญหน้าคือสิ่งสำคัญ เราจะต้องไม่กลับไปสู่ยุคสมัยนั้นอีกครั้ง”

ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือสงครามเย็นได้ก่อตัวขึ้นมาแล้วกันแน่ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนนิยามความหมายของ ‘สงครามเย็น’ ไว้แบบไหน

อ้างอิง:
scmp.com
globaltimes.cn
latimes.com
foreignaffairs.com
aa.com.tr
bbc.com

อ่านเพิ่มเติม…